อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
Food For Diabetes
คำแนะนำด้านโภชนาการ “อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน”
ข้อควรปฏิบัติในการควบคุมอาหาร
1. เลือกรับประทานอาหารโดยคำนึงถึงพลังงานที่ได้ตามประเภทของอาหาร คือ
- พลังงานจากคาร์โบไฮเดรท (แป้ง) ประมาณ 55-60%
- พลังงานจากโปรตีน (เนื้อสัตว์) ประมาณ 15-20%
- พลังงานจากไขมัน ประมาณ 25%
2. ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ต้องลดปริมาณลง อาจจะเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของที่เคยรับประทาน ห้ามรับประทานน้ำตาล และของหวานทุกชนิด รวมทั้งอาหารมัน ๆ และของทอดด้วย
3.
เลือกรับประทานอาหารที่มีใยมาก เช่น ข้าวซ้อมมือ อาหารประเภทผักต่างๆ หรือเม็ดแมงลัก ซึ่งจะช่วยระบายอ่อนๆ ด้วย
4. อย่ารับประทานจุกจิกและไม่ตรงเวลา ถ้าพลาดมื้ออาหารไปอาจเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปได้
5. รับประทานในปริมาณที่สม่ำเสมอและคงที่ ไม่ควรรับประทานมากเกินไป หรือน้อยเกินไปในบางมื้อ จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดควบคุมได้ยาก
6. ผู้ที่เป็นความดันเลือดสูงหรือโรคไตร่วมด้วย ไม่ควรรับประทานรสเค็มจัด ควรจะลดอาหารเค็ม
7. ถึงแม้ระดับน้ำตาลในเลือดปกติดีแล้ว ผู้ป่วยก็ต้องควบคุมอาหารตลอดไป
8. ขอให้ฝึกปฏิบัติจนเป็นนิสัย แล้วท่านจะรู้สึกว่าไม่ใช่เป็นเรื่องยากในการควบคุมอาหาร "อาหารเบาหวาน" ไม่ใช่อาหารที่พิเศษพิสดารอะไร ผู้ป่วยเบาหวานก็รับประทานอาหารเหมือนคนธรรมดาทั่วไป เพียงแต่เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ในชนิดและปริมาณอาหารเท่านั้น
อาหารเบาหวานกลุ่มที่รับประทานได้ไม่จำกัดปริมาณ
ผักทุกชนิด (ยกเว้น ผักประเภทที่มีแป้งมาก ได้แก่ ฟักทอง ถั่วลันเตา แครอท สะเดา)
อาหารเบาหวานกลุ่มที่รับประทานได้ แต่ต้องจำกัดปริมาณ
- อาหารพวกแป้ง ข้าว เผือก มัน ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน บะหมี่ ขนมปัง มักกะโรนี เป็นต้น
- ลดอาหารไขมัน เช่น ขาหมู ข้าวมันไก่ หมูสามชั้น หรืออาหารทอดน้ำมันมากๆ ตลอดจนไขมันจากพืช บางอย่าง เช่น กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ควรใช้น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดฝ้ายแทน
ผักประเภทหัวที่มีน้ำตาลหรือแป้งมาก เช่น หัวผักกาด ฟักทอง หัวหอม กระเจี๊ยบ ผักตระกูลถั่ว หัวปลี เป็นต้น
- ผลไม้บางอย่าง เช่น ส้ม เงาะ สับปะรด มะละกอ ฝรั่ง กล้วย เป็นต้น
ทั้งนี้ การรักษาโรคเบาหวานจะให้ได้ผลดี ต้องเกิดจากการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องตามหลักโภชนบำบัดด้วย
ข้อมูลอัพเดท ณ วันที่ : 16 ตุลาคม 2566
|